ประวัติย่อของท้าวสุรนารีและอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
พุทธศักราช 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์เป็นกบฏต่อกรุงเทพมหานคร ยกกองทัพเข้ามายึดเมืองนครราชสีมาได้ แล้วกวาดต้อนครอบครัวชาวนครราชสีมาไปถึงทุ่งสำฤทธิ์ ท่านผู้หญิงโมรวบรวมกำลังหญิงชายเข้าต่อสู้อย่างตะลุมบอน กองทหารเวียงจันทน์แตกพินาศเจ้าอนุวงศ์ถอยทัพกลับในที่สุด กองทัพไทยยกตามไปปราบ จับตัวเจ้าอนุวงศ์ได้ ท่านผู้หญิงผู้กล้าหาญได้นามว่า เป็นวีรสตรี กอบกู้อิสรภาพนครราชสีมาเอาไว้ได้ ด้วยความสามารถมีคุณต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาท่านผู้หญิงโมเป็น "ท้าวสุรนารี" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาปลัดเมืองนครราชสีมา(ทองคำ) ผู้เป็นสามีท้าวสุรนารี "เจ้าพระยามหิศราธิบดี" ปรากฏในพงศาวดารมาจนทุกวันนี้
ท้าวสุรนารีถึงอสัญกรรมเมื่อเดือน 5 ปีชวด จัตวาศก จ.ศ. 1214 (พ.ศ. 2395) อายุ 81 ปี เจ้าพระยามหิศราธิบดีผู้เป็นสามีได้ฌาปนกิจศพและสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดศาลาลอย ซึ่งท้าวสุรนารีได้สร้างขึ้น ต่อมาเจดีย์นั้นได้ชำรุดลง พลตรีพระยาสิงหเสนี(สอาด สิงหเสนี) เมื่อเป็นพระยาประสิทธิศัลการ ข้าาหลวงเทศาภิบาลผู้สำเร็จราชการมณฑลนครราชสีมา องคมนตรีและรัฐมนตรี ได้บริจาคทรัพย์สร้างกู่ขนาดเล็กบรรจุอัฐิท้าวสุรนารีขึ้นใหม่ที่วัดกลาง(วัดพระนารายณ์มหาราช) สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ร.ศ.114 (พ.ศ. 2442)
ต่อมากู่นั้นทรุดโทรมลงอีก ทั้งที่อยู่ในที่คับแคลไม่สง่างามสมเกียรติ พระยากำธรพายัพทิศ(ดิส อินทโสฬส) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายพันเอกพระเริงรุกปัจจามิตร(ทอง รักสงบ) ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 5 พร้อมด้วยข้าราชการและประชาชนชาวนครราชสีมาได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์รูปท้าวสุรนารีด้วยทองแดง นำอัฐิท่านมาบรรจุไว้ในฐานรองรับสร้างเสร็จประดิษฐานไว้ ณ ประตูชุมพลนี้ เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2477
ครั้ง พ.ศ. 2510 ฐานอนุสาวรีย์ชำรุด ข้าราชการและประชาชนชาวนครราชสีมามีนายสวัสดิ์วงศ์ ปฏิทัศน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานได้ร่วมใจกันสร้างฐาานอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิท้าวสุรนารีขึ้นใหม่ ณ ที่เดิม เพื่อให้เป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง และเชิดชูเกียรติท้าวสุรนารี วีรสตรีไทยตลอดกาลนาน สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2510
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น