วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

ลักษณะภูมิประเทศ ของไทย

ลักษณะภูมิประเทศ

 ลักษณะภูมิประเทศของไทย แบ่งออกได้เป็น ๔ ลักษณะคือ
พื้นที่ราบอันกว้างใหญ่ภาคกลาง  แบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือที่ราบดินตะกอน  และที่ราบซึ่งเกือบไม่มีดินตะกอนเลย
         ที่ราบใหญ่ภาคกลาง  มีขนาดกว้าง ประมาณ ๕๐ - ๑๕๐ กิโลเมตร  ยาวประมาณ ๓๐๐ กิโลเมตร แบ่งออกได้เป็น ๕ ตอนด้วยกันคือ
            ตอนบน  เป็นพื้นที่ราบ ซึ่งมีลักษณะเป็นลุ่มแอ่งน้อย ๆ ตั้งอยู่ในระหว่างย่านภูเขาทางเหนือ มีทิวเขาถนนธงชัยอยู่ทางด้านทิศตะวันตก และทิวเขาเพชรบูรณ์อยู่ทางด้านทิศตะวันออก  พื้นที่ตอนกลางระหว่างทิวเขาทั้งสองเป็นที่ลุ่ม มีระดับสูงประมาณ ๓ - ๔ เมตร จากระดับน้ำทะเล  แต่ทางตอนใต้บริเวณ จังหวัดชัยนาท เป็นที่ค่อนข้างดอน มีความสูงประมาณ ๑๘ เมตร จากระดับน้ำทะเล
            ตอนล่าง  เป็นพื้นที่ราบ ซึ่งมีความลาดจาก จังหวัดชัยนาทลงไปทางใต้ ลงสู่ทะเลที่อ่าวไทยพื้นที่ต่ำสุดอยู่ตอนกลาง ซึ่งเป็นรางของลำน้ำ พื้นที่ทางด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตก จะมีความลาดลงมาน้อย ๆ จากแนวทิวเขา มีระดับสูง ๑๘ เมตร ที่ชัยนาท ๔ เมตรที่อยุธยา และ ๑.๘ เมตรที่กรุงเทพ ฯ
         ที่ราบลุ่มแม่น้ำป่าสัก  เป็นที่ราบแคบ ๆ ในภาคกลาง คั่นอยู่ระหว่างที่ราบใหญ่ภาคกลาง กับที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เป็นที่ราบแคบ ๆ และยาวอยู่ระหว่างหุบเขาของทิวเขาเพชรบูรณ์ กับทิวเขาเลย
         ที่ราบภาคตะวันออก  เป็นที่ราบซึ่งคั่นระหว่างภาคกลางของไทยกับประเทศเขมร แบ่งออกได้เป็น ๒ ส่วนคือ
            ตอนบน  คือที่ราบปราจีนบุรี เป็นที่ราบลุ่มน้ำบางปะกง มีลักษณะเป็นชานของที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จึงค่อนข้างจะเป็นที่ดอนเล็กน้อย  อยู่ระหว่างทิวเขาสันกำแพง ทิวเขาพนมดงรัก กับทิวเขาบรรทัด  ตอนแคบที่สุดกว้างประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ที่ช่องวัฒนา
            ตอนล่าง  เป็นที่ราบชายฝั่งทะเลตะวันออก เป็นที่ราบแคบ ๆ อยู่ระหว่างทิวเขาบรรทัดกับฝั่งทะเล  เป็นที่ราบที่ลาดลงสู่ฝั่งทะเล ในเขตสี่จังหวัด คือ ชลบุรี จันทบุรี ระยอง และตราด
         ที่ราบลุ่มน้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี  เป็นที่ราบทางตะวันตกเฉียงใต้ของภาคกลาง  ทางด้านทิศตะวันตกมีภูเขาตะนาวศรี ทางด้านทิศตะวันออก ตอนจังหวัดนครปฐมถึงอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเนินกับระหว่างที่ราบใหญ่ภาคกลางกับที่ราบลุ่มแม่กลอง

 ที่ราบในย่านภูเขาภาคเหนือ  ประกอบด้วยที่ราบหลายผืน  เป็นที่ราบระหว่างทิวเขา ทำให้มีพื้นที่ไม่ติดต่อถึงกัน ที่สำคัญได้แก่
            ที่ราบเชียงใหม่  มีความสูงประมาณ ๓๐๐ เมตร
            ที่ราบเชียงราย  มีความสูงประมาณ ๔๐๐ เมตร
            ที่ราบแพร่  มีความสูงประมาณ ๒๐๐ เมตร
            ที่ราบน่าน  มีความสูงประมาณ ๒๐๐ เมตร


ที่ราบสูงตะวันออกเฉียงเหนือ  มีความสูง ประมาณ ๒๐๐ - ๓๐๐ เมตร อยู่ในวงล้อมของทิวเขาเป็นที่ราบอันกว้างใหญ่อีกผืนหนึ่ง  มีพื้นที่ประมาณ ๑๕๔,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร  แบ่งออกได้เป็นสองตอนคือ
            ตอนบน  ได้แก่พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง
            ตอนล่าง  ได้แก่พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล


ที่ราบภาคใต้  ภาคใต้อยู่บนแหลมแคบ ๆ ที่มีความกว้างที่สุดไม่เกิน ๒๐๐ กิโลเมตร และส่วนที่แคบที่สุด ประมาณ ๖๐ กิโลเมตร ตอนกลางของแหลมเป็นทิวเขาโดยตลอด จึงมีที่ราบชายฝั่งทะเลผืนแคบ ๆ เป็นตอน ๆ ไม่ติดต่อกัน ที่สำคัญ ได้แก่
          ที่ราบบ้านดอน
          ที่ราบพัทลุง
          ที่ราบตานี
            นอกจากนี้ก็เป็นที่ราบแคบ ๆ ริมฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย และด้านทะเลอันดามัน
      ภูเขาและทิวเขา ลักษณะของทิวเขาเกือบจะขนานกัน ส่วนใหญ่มีแนวจากทิศเหนือลงใต้แบบเดียวกันทุกภาค  ภูเขาในประเทศไทยมีอยู่ไม่หนาแน่นมากนัก ที่มีทิศทางขวางก็มีอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก
          ภูเขาหิน  มีอยู่ทั่วไป มีลักษณะติดต่อกันเป็นทิวใหญ่ เช่นทิวเขาถนนธงชัย ทิวเขาตะนาวศรี ภูเขาหินแบ่งออกเป็นสองชนิดคือ ชนิดหินแกรนิต เป็นหินแข็งแกร่ง มักมีลักษณะยอดไม่ใคร่แหลมชลูด มีลาดไม่ชันนัก มีน้ำอยู่ทั่วไปจึงมีป่าไม้ขนาดสูงขึ้นปกคลุม ทิวเขาชนิดนี้มีอยู่ในภาคเหนือและภาคใต้เป็นส่วนมาก  ส่วนภูเขาชนิดหินปูน เป็นหินที่ไม่เหนียวและไม่แกร่ง จึงมักถูกธรรมชาติกัดเซาะจนมีลักษณะเป็นยอดแหลมสูง มีผาชัน หาน้ำได้ยาก  จึงมีแต่ป่าไม้เล็ก ๆ ขึ้นปกคลุม หรือบางส่วนก็จะไม่มีต้นไม้เลย  บริเวณเชิงเขามักมีเนินดินสีเทา ๆ อันเกิดจากหินปูนที่แตกสลายลงมา มีลักษณะร่วนซุยเมื่อถูกฝนจะกลายเป็นเปือกตม  เขาหินปูนส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง และภาคใต้ตอนบนเช่น เขาในเขตจังหวัดลพบุรี สระบุรี ราชบุรี เพชรบุรี (เขาหลวง) และประจวบคีรีขันธ์ (เขาสามร้อยยอด)
           ภูเขาดิน  ประกอบด้วยดินร่วน หรือหินลูกรังปนกับหินก้อนขนาดย่อม เป็นภูเขาสูงปานกลาง ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเนินเตี้ย  ที่ทางภาคใต้เรียกว่า ควน ลาดเขามีลักษณะเป็นลาดโค้งบนเชิงเขา  โดยรอบมักเป็นพื้นราบกว้างขวาง เช่น บริเวณตอนใต้ของเขาสามมุข จังหวัดชลบุรี  หรือในภาคใต้ตั้งแต่สถานีรถไฟมาบอัมฤทธิ์ถึงสถานีห้วยสัก เป็นต้น
            ภูเขาไฟ  ภูเขาไฟในประเทศไทย เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทมานานแล้ว  เช่นที่ภูเขาหลวง จังหวัดสุโขทัย ซึ่งปรากฎมียอดเป็นปากปล่องภูเขาไฟและมีหินตะกรันอยู่โดยรอบ  ในที่ราบสูงภาคอิสานเป็นพื้นที่ภายในปากปล่องภูเขาไฟใหญ่ในอดีตซึ่งดับไปแล้ว  และก่อให้เกิดที่ราบสูงอันกว้างใหญ่ขึ้นมาแทน
            ภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ และอยู่ใกล้ประเทศไทยเท่าที่สำรวจพบมีอยู่ ๒ แห่งคือ ภูเขาไฟโป๊ป่าในพม่า และภูเขาไฟใหญ่กับภูเขาไฟน้อยในล้านช้าง มีความสูงประมาณ ๖๕ เมตร ปากปล่องเป็นรูปไข่กว้างประมาณ ๘๐ เมตร ยาวประมาณ ๒๐๐ เมตร


พื้นที่ย่านภูเขา  คือบริเวณที่มีทิวเขาอยู่เป็นจำนวนมาก  เป็นพื้นที่ต่อเนื่องมาจากที่ราบสูงยูนานทางด้านทิศเหนือ ทิวเขาส่วนมากมีทิศทางจากเหนือทอดลงมาทางใต้  ทิวเขาเหล่านี้ก่อให้เกิดพื้นที่ราบระหว่างหุบเขา ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เป็นช่วง ๆ มีลักษณะพื้นที่ต่างกับพื้นที่แถบอื่น ๆ  และมีที่ตั้งอยู่ลำพังทางส่วนเหนือสุดของประเทศไทย ทิวเขาที่สำคัญได้แก่
         ทิวเขาแถบตะวันตกของประไทย  เป็นทิวเขาต่อจากชายตะวันตกของภาคเหนือ ต่อเนื่องลงไปทางใต้จนถึงภาคใต้ตลอดผืนแผ่นดินที่เป็นแหลม  ทิวเขาที่สำคัญได้แก่  ทิวเขาถนนธงชัย และทิวเขาตะนาวศรี  ซึ่งเชื่อมต่อกันเป็นปมที่บริเวณชายแดนด้านตะวันตกของจังหวัดกาญจนบุรี มีลักษณะเป็นย่านภูเขาน้อย ๆ แผ่อาณาบริเวณเข้าไปในประเทศพม่า และเข้ามาในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่
          ทิวเขาตอนใจกลางของประเทศ  ได้แก่ทิวเขาซึ่งเป็นเทือกเดียวกับ ทิวเขาทางด้านทิศตะวันออกของภาคเหนือของไทย  มีแนวทอดลงมาทางทิศใต้  ขนานกับอีกทิวเขาหนึ่งทางด้านทิศตะวันออก  พื้นที่ระหว่างทิวเขาทั้งสองนี้เป็นหุบเขาแคบ ๆ อยู่ตอนใจกลางของประเทศ ได้แก่ที่ราบสูงเพชรบูรณ์
          ทิวเขาบนที่ราบสูงตะวันออกเฉียงเหนือ  ประกอบด้วยทิวเขาหลายทิว ซึ่งกั้นเป็นขอบของที่ราบสูงแห่งนี้ มีแนวทิศทางการทอดตัวอยู่สองแนวคือ ทางด้านตะวันตกแนวหนึ่ง กับทางด้านใต้อีกแนวหนึ่ง ทิวเขาดังกล่าวนี้จะกันเอาที่ราบสูงออกไปต่างหากจากที่ราบภาคกลาง  เป็นทิวเขาที่สูงใหญ่พอสมควร ถ้าดูจากที่ราบภาคกลาง  แต่ถ้าดูจากที่ราบสูงแล้วจะเห็นเป็นทิวเขาเตี้ย ๆ เท่านั้น
          ทิวเขาแถบฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าวไทย  เป็นทิวเขาที่มีแนวเกือบขนานกับฝั่งทะเล  เมื่อทิวเขาออกพ้นเขตแดนไทยเข้าไปในกัมพูชา เป็นทิวเขาที่เก่าแก่ทิวเขาหนึ่ง
ทางน้ำ
            เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในย่านมรสุม มีฝนตกชุกในฤดูฝนที่ค่อนข้างยาวนานถึง ๖ เดือน โดยเฉลี่ยจึงก่อให้เกิดลำน้ำมากมาย  แต่ลำน้ำที่สำคัญและมีประโยชน์มีอยู่ไม่มากนัก  ลำน้ำโดยทั่วไปจะเป็นลำน้ำสายสั้น ๆ มีน้ำเฉพาะในฤดูฝน  เมื่อแบ่งลำน้ำออกเป็นพวก ๆ ตามลักษณะของพื้นที่และตามกำเนิดของลำน้ำพอจะแบ่งออกได้เป็นสี่กลุ่ม ดังนี้


ลำน้ำในภาคเหนือ  นอกจากลำน้ำใหญ่สองสายคือ ลำน้ำสาละวิน ซึ่งไหลผ่านชายแดนด้านตะวันตก และลำน้ำโขง ซึ่งไหลผ่านชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว  ลำน้ำในภาคเหนือมีอยู่หลายสาย และมีต้นน้ำที่เกิดจากพื้นที่ย่านภูเขาในภาคเหนือเอง แทบทั้งสิ้น ได้แก่
          สาขาของลำน้ำสาละวิน  ได้แก่ ลำน้ำปาย เกิดจากเทือกเขาถนนธงชัย และเทือกเขาแดนลาวไหลผ่าน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลงสู่แม่น้ำสาละวิน ลำน้ำเมย เกิดจากเทือกเขาถนนธงชัย ไหลไปตามซอกเขาที่กั้นเขตแดนไทยกับพม่า  ลงสู่แม่น้ำสาละวิน  ลำน้ำยวม เกิดจากทิวเขาถนนธงชัย ผ่านอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วไปบรรจบกับลำน้ำเมย  ลำน้ำสาละวิน เกิดจากบริเวณประเทศธิเบต ไหลผ่านประเทศไทย ตามแนวเส้นกั้นเขตแดนไทยกับพม่า ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน  แล้วไหลผ่านพม่าไปลงอ่าวเมาะตะมะ
          สาขาของแม่น้ำโขง ได้แก่ ลำน้ำแม่กก เกิดจากภูเขาในรัฐฉาน ไหลผ่านเมืองสาด เข้าเขตไทยในจังหวัดเชียงราย  แล้วไหลไปบรรจบลำน้ำโขงในเขต อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย  ลำน้ำฝาง เกิดจากทิวเขาแดนลาวและทิวเขาผีปันน้ำ ไหลไปบรรจบแม่น้ำกก ในเขตตำบลปางเดิม  ลำน้ำแม่สาย  เกิดจากทิวเขาในรัฐฉาน เป็นแนวเขตแดนระหว่างไทยกับรัฐฉาน  แล้วไหลไปบรรจบลำน้ำรวกที่สบสาย  ลำน้ำรวก  เกิดจากทิวเขาในรัฐฉาน ไหลไปบรรจบลำน้ำโขงที่สบรวก  ลำน้ำแม่จัน เกิดจากดอยสามเส้าในทิวเขาผีปันน้ำ ไหลไปบรรจบลำน้ำโขง ในเขตอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย  ลำน้ำแม่อิง เกิดจากทิวเขาผีปันน้ำ ในเขตจังหวัดเชียงราย ไหลไปบรรจบลำน้ำโขง ในเขตอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย  ลำน้ำโขง มีต้นน้ำอยู่ในธิเบตไหลผ่านไทยทางภาคเหนือ ในเขตอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย  และไหลผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเส้นเขตแดนไทยกับลาวโดยตลอดตั้งแต่ อำเภอเชียงคานจังหวัดเลย ไปจนถึงอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี แล้วไหลผ่านประเทศลาว กัมพูชา เวียตนาม ลงสู่ทะเลจีน ในเวียตนาม
          สาขาของลำน้ำเจ้าพระยา  ได้แก่ ลำน้ำปิง ยาวประมาณ ๗๗๕ กิโลเมตร  เกิดจากทิวเขาแดนลาว ไหลเลาะไปตามทิวเขาถนนธงชัยผ่านจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ตาก กำแพงเพชร ไปบรรจบกับสาขาอื่นของลำน้ำเจ้าพระยา ในเขตตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง ฯ จังหวัดนครสวรรค์  ลำน้ำวัง ยาวประมาณ ๓๐๐ กิโลเมตร  เกิดจากทิวเขาผีปันน้ำ และเทือกเขาขุนตาล ในเขตจังหวัดลำปาง ไหลผ่านจังหวัดกำแพงเพชร ไปบรรจบลำน้ำปิง ในเขตอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก  ลำน้ำยม ยาวประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร เกิดจากทิวเขาผีปันน้ำ ไหลผ่านจังหวัดสุโขทัย ไปบรรจบลำน้ำน่าน ในเขตอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์  ลำน้ำน่าน ยาวประมาณ ๖๐๐ กิโลเมตร  เกิดจากทิวเขาหลวงพระบาง ไหลขนานกับลำน้ำยมลมาทางใต้ ผ่านจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร แล้วไหลไปบรรจบกับสาขาอื่นของลำน้ำเจ้าพระยา ในเขตตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง ฯ จังหวัดนครสวรรค์


ลำน้ำในภาคกลาง  สายน้ำที่สำคัญคือ ลำน้ำเจ้าพระยา ซึ่งก็เป็นลำน้ำสายสำคัญที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากเป็นลำน้ำขนาดใหญ่ ไหลผ่านที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศ  ส่วนลำน้ำสายอื่น ๆ ก็มีความสำคัญรองลงไป  ลำน้ำที่สำคัญในภาคกลางได้แก่  ลำน้ำเจ้าพระยา ยาวประมาณ ๗๐๐ กิโลเมตร  เป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดนับเป็นเส้นโลหิตใหญ่ของประเทศ  เริ่มต้นจากตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง ฯ จังหวัดนครสวรรค์ ไหลผ่านจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพ ฯ และสมุทรปราการ ไหลลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ  ลำน้ำป่าสัก ยาวประมาณ ๔๕๐ กิโลเมตร  เกิดจากทิวเขาเพชรบูรณ์ ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ไหลผ่านที่ราบในหุบเขาเพชรบูรณ์ ผ่านจังหวัดลพบุรี สระบุรี ไปบรรจบลำน้ำเจ้าพระยา ในเขตจังหวัดอยุธยา  ลำน้ำท่าจีน  ยาวประมาณ ๒๓๐ กิโลเมตร  เป็นสาขาแยกจากลำน้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดอุทัยธานี แล้วไหลขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทางด้านตะวันตก ลงสู่อ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรสาคร ลำน้ำลพบุรี เป็นสาขาแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางพุทรา จังหวัดสิงห์บุรี ไหลผ่านจังหวัดลพบุรี แล้วไหลไปบรรจบ ลำน้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดอยุธยา  นอกจากนี้ยังมีสาขาแยกเล็ก ๆ อีกหลายสาย เช่น  ลำน้ำสะแกกรัง ในเขตจังหวัดอุทัยธานี  ลำน้ำโผงเผง ในเขตจังหวัดอ่างทอง และลำน้ำบางบาน ในเขตจังหวัดอยุธยา
            ลำน้ำที่ไหลลงสู่อ่าวไทยด้านตะวันออก ที่สำคัญได้แก่  ลำน้ำบางปะกง ยาวประมาณ ๓๐๐ กิโลเมตร  เกิดจากทิวเขาพนมดงรัก แล้วไหลไปทางตะวันตก ผ่านจังหวัดปราจีนบุรี นครนายก ลงสู่อ่าวไทยในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ลำน้ำสายนี้มีชือเรียกต่างกันตามท้องถิ่นที่ลำน้ำไหลผ่าน เช่นลำน้ำพระปรง ลำน้ำประจีน  ลำน้ำระยอง ยาว ๓๐ กิโลเมตร  เกิดจากภูเขาในเขตจังหวัดระยองไหลลงสู่ทะเลในเขตจังหวัดระยอง  ลำน้ำประแส ยาว ๒๗ กิโลเมตร  ลำน้ำจันทบุรียาว ๘๖ กิโลเมตร เกิดจากทิวเขาจันทบุรี ไหลลงสู่ทะเลที่อำเภอท่าแฉลบ จังหวัดจันทบุรี  ลำน้ำเวฬ ยาว ๖๔ กิโลเมตร  เกิดจากทิวเขาจันทบุรี ไหลลงสู่ทะเลที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี  ลำน้ำตราด เกิดจากทิวเขาจันทบุรี และทิวเขาบรรทัด ไหลลงสู่ทะเลที่อำเภอ แหลมงอบ จังหวัดตราด
            ลำน้ำที่ไหลลงสู่อ่าวไทยด้านตะวันตก  ที่สำคัญมีอยู่ ๓ สายด้วยกันคือ  ลำน้ำแม่กลอง ยาว ๓๐๐ กิโลเมตร  ประกอบด้วย แควน้อย และแควใหญ่  แควใหญ่ ยาว ๓๐๐ กิโลเมตร  ไหลไปบรรจบลำน้ำแม่กลองที่อำเภอปากแพรก จังหวัดกาญจนบุรี  แควน้อย ยาว ๒๒๗ กิโลเมตร ไหลไปบรรจบลำน้ำแม่กลองที่อำเภอเมือง ฯ จังหวัดกาญจนบุรี ลำน้ำเพชรบุรี ยาว ๑๐๐ กิโลเมตร  เกิดจากทิวเขาตะนาวศรี ไหลลงสู่ทะเลที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
       ลำน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  ที่สำคัญได้แก่  ลำน้ำมูล ยาว ๖๒๐ กิโลเมตร  เกิดจากทิวเขาสันกำแพง ไหลขนานกับทิวเขาพนมดงรักไปทางทิศตะวันออก ไปบรรจบลำน้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี  ลำน้ำชี ยาว ๖๐๐ กิโลเมตร  เกิดจากทิวเขาเพชรบูรณ์ และทิวเขาเก้าลูก ไหลลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไปบรรจบลำน้ำมูลที่อำเภอเมือง ฯ จังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้ก็มี  ลำน้ำเลย และลำน้ำสงคราม
       ลำน้ำในภาคใต้  แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ

ลำน้ำที่ไหลลงสู่อ่าวไทย  มีอยู่ ๗ สายด้วยกันได้แก่ ลำน้ำชุมพร ยาว ๑๐๐ กิโลเมตร  เกิดจากแคว ๒ แควจากทิวเขาตะนาวศรี และทิวเขาระนอง แล้วไหลไปรวมกันที่ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร  คลองชุมพร อยู่ทางตะวันออกของลำน้ำชุมพร  ลำน้ำหลังสวน เกิดจากทิวเขาระนอง ไหลลงสู่ทะเลที่ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร  ลำน้ำตาปี ยาว ๓๐๐ กิโลเมตร เกิดจากทิวเขาภูเก็ต และทิวเขานครศรีธรรมราช ไหลลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอบ้านดอน เป็นลำน้ำที่เกิดจากแควคีรีรัฐ และแควน้ำหลวง  ลำน้ำปัตตานี เกิดจากทิวเขาสันกาลาคีรี ไหลขึ้นมาทางเหนือ ลงสู่อ่าวไทยที่จังหวัดปัตตานี  ลำน้ำสายบุรี ยาว ๑๗๐ กิโลเมตร  เกิดจากทิวเขาสันกาลาคีรี ไหลลงสู่ทะเลที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี  ลำน้ำโกลก เกิดจากทิวเขาสันกาลาคีรี เป็นแนวเขตแดนไทยกับมาเลเซีย
          ลำน้ำที่ไหลลงมหาสมุทรอินเดีย

  มีอยู่ ๒ สายคือ  ลำน้ำปากจั่น หรือลำน้ำกระ ยาว ๑๒๓ กิโลเมตร เกิดจากเทือกเขาตะนาวศรี ไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไหลออกสู่ทะเลที่อ่าวระนอง จังหวัดระนอง  ลำน้ำตรัง ยาว ๑๓๗ กิโลเมตร  เกิดจากทิวเขานครศรีธรรมราช ไหลไปทางทิศใต้ลงสู่ทะเลที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
ทะเลสาบ บึงและหนอง
      ทะเลสาบ  มีอยู่เพียง ๒ แห่งคือ  ทะเลสาบสงขลา และทะเลน้อย
      บึงและหนอง  มีกระจายอยู่ทั่วไปทั้งประเทศที่สำคัญ ในแต่ละภาคมีดังนี้
          ภาคเหนือ  มีหนองเล้งทราย ในเขตบ้านแม่โจ้ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย กว๊านพะเยา อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ จังหวัดพะเยา  หนองหล่ม อยู่ในเขตอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
          ภาคกลาง  มีบึงบรเพ็ด อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ จังหวัดนครสวรรค์  บึงสีไฟ อยู่ในเขตอำเภอท่าหลวง จังหวัดพิจิตร  บึงราชนก ในเขตอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก  บึงจอมบึง อยู่ในเขตอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี  บึงสระสี่มุม อยู่ทางฝั่งขวาของลำน้ำไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มีหนองระหาร อยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร หนองหารอยู่ในเขตอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี หนองพันสัก อยู่ในเขตจังหวัดมหาสารคาม

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

สภาพภูมิศาสตร์ประเทศไทย.avi

7 สิ่งมหัสจรรย์ของโลก

เครื่องมือทางภูมิศาสตร์

เครื่องมือทางภูมิศาสตร์
 
เครื่องมือประเภทอุปกรณ์ทางภูมิศาสตร์ 
      อุปกรณ์ทางภูมิศาสตร์  หมายถึง  อุปกรณ์ที่ใช้วัดหรือเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์ในด้านต่างๆ  เช่น  ทิศ  ระยะทาง  ความสูง  ตำแหน่งที่ตั้ง  อุณหภูมิของอากาศ  และปริมาณน้ำฝน  เป็นต้น  สรุปได้ดังนี้ 

     เข็มทิศ  เป็นเครื่องมือบอกทิศอย่างง่ายๆ  โดยจะทำปฏิกิริยากับแม่เหล็กโลก และแสดงค่าค่าของมุมบนหน้าปัด  วิธีใช้เข็มทิศ คือ วางเข็มทิศในแนวระนาบ ปรับหมุนหน้าปัดให้ทิศบอกค่าบนหน้าปัดอยู่ในตำแหน่งที่หันไปทางทิศเหนือแม่เหล็กโลก 
            ต่อจากนั้นจึงนำเข็มทิศหันเข้าหาตำแหน่งที่ต้องการวัดมุม เช่น เสาธงโรงเรียน  เข็มทิศก็จะบอกให้ทราบว่าเสาธงของโรงเรียนอยู่ในทิศใด  และทำมุมกี่องศากับทิศเหนือแม่เหล็กโลก 
เครื่องมือวัดพื้นที่ (Planimeter) มีลักษณะคล้ายไม้บรรทัดทำด้วยโลหะยาวประมาณ  1 ฟุต  ใช้สำหรับวัดพื้นที่ในแผนที่  โดยเครื่องจะคำนวณให้ทราบค่าของพื้นที่และแสดงค่าบนหน้าปัด
 เทปวัดระยะทาง  ใช้สำหรับวัดระยะทางของพื้นที่  เมื่อลงไปสำรวจหรือเก็บข้อมูลภาคสนาม  เทปวัดระยะทางมี  3 ชนิด  ได้แก่  เทปที่ทำด้วยผ้า  เทปที่ทำด้วยโลหะ  และเทปที่ทำด้วยโซ่
   เครื่องมือย่อขยายแผนที่  (Pantograph)  เป็นอุปกรณ์ที่ใช้จัดทำแผนที่อย่างหนึ่ง  เพื่อย่อหรือขยายแผนที่ให้ได้ขนาดหรือมาตราส่วนตามที่ต้องการ  โดยทั่วไปนิยมใช้แบบโต๊ะไฟ  ซึ่งมีแท่นวางแผนที่ต้นฉบับและมีไฟส่องอยู่ใต้กระจก  ทำให้แผนที่ต้นฉบับปรากฏเป็นเงาบนกระจกอย่างชัดเจน  ทั้งนี้ผู้จัดทำแผนที่  ดังกล่าว จะต้องลอกลายเพื่อย่อหรือขยายแผนที่ด้วยมือของตนเอง

กล้องวัดระดับ (Telescope)   เป็นอุปกรณ์วัดระดับความสูงจากพื้นดิน  เพื่อสำรวจพื้นที่สร้างถนน  โดยจะช่วยกำหนดระดับแนวถนนได้ตามที่ต้องการ

ท้าวศรีสุดาจันทรื



 พระประวัติ    
            มีการสันนิษฐานเกี่ยวกับพระชาติกำเนิดของท้าวศรีสุดาจันทร์ว่าสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์อู่ทอง โดยอาจสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระรามราชาธิราชที่เสียราชสมบัติแล้วถูกส่งไปอยู่เมืองปทาคูจาม ซึ่งพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้ให้ข้อสังเกตว่าราชวงศ์ดังกล่าวอาจถูกละเว้นไว้ในฐานะที่เป็นตระกูลศักดิ์สิทธิ์ ผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์ดังกล่าวจึงได้รับการเลี้ยงดูสืบมาให้มาทำหน้าที่สำคัญในราชสำนัก
              ซึ่งสอดคล้องกับจดหมายเหตุวันวลิต ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับขุนวรวงศาธิราช ที่เดิมเป็นพนักงานเฝ้าหอพระมาก่อน ว่าเป็นหมอผี มีหน้าที่อ่านแปลหนังสือพงศาวดารของต่างประเทศให้แก่พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขุนวรวงศาธิราชและรวมไปถึงท้าวศรีสุดาจันทร์ที่มีศักดิ์เป็นญาติ ไม่ได้มาจากตระกูลชั้นต่ำ แต่เป็นระดับผู้รู้ และอยู่ในฐานะระดับปุโรหิตที่มีหน้าที่เกี่ยวกับพระราชพิธีในราชสำนัก
ขุนวรวงศาธิราชมีน้องชายคือนายจัน บ้านมหาโลก ซึ่งหมู่บ้านดังกล่าวเป็นหมู่บ้านเขมร ดังนั้นตระกูลของเขาอาจมีความสัมพันธ์กับเขมรด้วย ซึ่งเอกสารโปรตุเกสได้กล่าวถึงนายจันว่าเป็นช่างเหล็ก
              ซึ่งเทคโนโลยีผลิตเครื่องมือเหล็กในสมัยนั้นไม่ใช่ของที่ใครก็ทำได้ง่าย ๆ ซึ่งต้องอาศัยผู้ชำนาญสะสมมาเป็นเวลานาน ซึ่งยืนยันได้ว่าตระกูลของนายจันไม่ใช่ตระกูลชั้นต่ำแต่อย่างใด
ด้วยเหตุที่พระนางมีพระราชโอรสคือพระยอดฟ้า พระนางจึงมีฐานะที่สูงกว่าพระชายาอื่นอีก 3 พระองค์  

การครองอำนาจ  
            ต่อมาสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระสวามีได้เสด็จกลับจากราชการสงคราม ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต จึงได้มีการยกพระยอดฟ้าผู้เป็นพระโอรสครองราชต่อมาในปี พ.ศ. 2089 โดยมีนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
            ในปี พ.ศ. 2091 นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ทรงอ้างว่าพระยอดฟ้ายังทรงพระเยาว์ หัวเมืองเหนือก็ไม่เป็นปกติจึงปรึกษากับขุนนางว่าจะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดินจนกระทั่งพระยอดฟ้าทรงเจริญพระชนมายุ เหล่าขุนนางก็เห็นชอบด้วย เมื่อขุนวรวงศาธิราชขึ้นครองราชย์แล้ว ก็สถาปนานายจัน ผู้เป็นน้องชายที่อยู่บ้านมหาโลกขึ้นเป็นพระมหาอุปราช แล้วนำพระยอดฟ้าไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา ส่วนพระศรีศิลป์ พระราชโอรสอีกพระองค์ซึ่งในขณะนั้นมีพระชนมายุได้ 7 พรรษา ทรงเลี้ยงไว้

สิ้นพระชนม์
            หลังจากการครองราชย์ของขุนวรวงศาธิราช ก็มีกลุ่มขุนนางผู้ใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการครองราชย์นั้น นำโดยขุนพิเรนทรเทพ (ต่อมาคือสมเด็จพระมหาธรรมราชา) ได้ร่วมกันวางแผนจับขุนวรวงศาธิราชปลงพระชนม์เสีย โดยวางแผนหลอกล่อให้ขุนวรวงศาธิราชว่ามีช้างเผือกติดเพนียดหากขุนวงศาธิราชเสด็จไปคล้องช้างก็จะเกิดบารมีและสิทธิธรรมในการครองราชย์ ต่อมาเมื่อถึงวันที่เสด็จทางชลมารคตามลำคลองสระบัวเพื่อไปคล้องช้างเถื่อนที่เพนียดวัดซองที่ย่านหัวรอ ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพเองก็นำกำลังดักซุ่มที่คลองบางปลาหมอ เมื่อขบวนเรือล่องมาถึงบริเวณปากคลองสระบัวที่บรรจบกับคลองบางปลาหมอ (สันนิษฐานว่าปริมณฑลดังกล่าวในปัจจุบันคือวัดเจ้าย่า) ก็มีการสกัดจับขุนวรวงศาธิราชกับนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์พร้อมด้วยบุตรปลงพระชนม์เสียแล้วนำพระศพไปเสียบประจานที่วัดแร้ง แล้วจึงไปทูลเชิญพระเฑียรราชาซึ่งผนวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐาน ลาสิกขาบทมาครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

ประวัติย่อของท้าวสุรนารีและอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

ประวัติย่อของท้าวสุรนารีและอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

              
พุทธศักราช 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์เป็นกบฏต่อกรุงเทพมหานคร ยกกองทัพเข้ามายึดเมืองนครราชสีมาได้ แล้วกวาดต้อนครอบครัวชาวนครราชสีมาไปถึงทุ่งสำฤทธิ์ ท่านผู้หญิงโมรวบรวมกำลังหญิงชายเข้าต่อสู้อย่างตะลุมบอน กองทหารเวียงจันทน์แตกพินาศเจ้าอนุวงศ์ถอยทัพกลับในที่สุด กองทัพไทยยกตามไปปราบ จับตัวเจ้าอนุวงศ์ได้ ท่านผู้หญิงผู้กล้าหาญได้นามว่า เป็นวีรสตรี กอบกู้อิสรภาพนครราชสีมาเอาไว้ได้ ด้วยความสามารถมีคุณต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาท่านผู้หญิงโมเป็น "ท้าวสุรนารี" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาปลัดเมืองนครราชสีมา(ทองคำ) ผู้เป็นสามีท้าวสุรนารี "เจ้าพระยามหิศราธิบดี" ปรากฏในพงศาวดารมาจนทุกวันนี้
ท้าวสุรนารีถึงอสัญกรรมเมื่อเดือน 5 ปีชวด จัตวาศก จ.ศ. 1214 (พ.ศ. 2395) อายุ 81 ปี เจ้าพระยามหิศราธิบดีผู้เป็นสามีได้ฌาปนกิจศพและสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดศาลาลอย ซึ่งท้าวสุรนารีได้สร้างขึ้น ต่อมาเจดีย์นั้นได้ชำรุดลง พลตรีพระยาสิงหเสนี(สอาด  สิงหเสนี) เมื่อเป็นพระยาประสิทธิศัลการ ข้าาหลวงเทศาภิบาลผู้สำเร็จราชการมณฑลนครราชสีมา องคมนตรีและรัฐมนตรี ได้บริจาคทรัพย์สร้างกู่ขนาดเล็กบรรจุอัฐิท้าวสุรนารีขึ้นใหม่ที่วัดกลาง(วัดพระนารายณ์มหาราช) สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ร.ศ.114 (พ.ศ. 2442)


                 ต่อมากู่นั้นทรุดโทรมลงอีก ทั้งที่อยู่ในที่คับแคลไม่สง่างามสมเกียรติ พระยากำธรพายัพทิศ(ดิส  อินทโสฬส) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายพันเอกพระเริงรุกปัจจามิตร(ทอง  รักสงบ) ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 5 พร้อมด้วยข้าราชการและประชาชนชาวนครราชสีมาได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์รูปท้าวสุรนารีด้วยทองแดง นำอัฐิท่านมาบรรจุไว้ในฐานรองรับสร้างเสร็จประดิษฐานไว้ ณ ประตูชุมพลนี้ เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2477

                 ครั้ง พ.ศ. 2510 ฐานอนุสาวรีย์ชำรุด ข้าราชการและประชาชนชาวนครราชสีมามีนายสวัสดิ์วงศ์  ปฏิทัศน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานได้ร่วมใจกันสร้างฐาานอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิท้าวสุรนารีขึ้นใหม่ ณ ที่เดิม เพื่อให้เป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง และเชิดชูเกียรติท้าวสุรนารี วีรสตรีไทยตลอดกาลนาน สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2510

วีรบุรุษชาติไทย

พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยกรุงธนบุรี เสด็จพระราช สมภพ ณ วันที่ 17 เมษายน พุทธศักราช 2277 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมโกศพระองค์ทรงเป็นสามัญชน กำเนิดในตระกูลแต้ มีพระนามเดิมว่า สิน พระราชบิดาเป็นจีนชื่อ ไหฮอง เดินทางจากประเทศจีนมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย แล้วได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ นางนกเอี้ยง มีหลักฐาน บันทึกว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเคยเป็นพ่อค้าเกวียนผู้ทรงปัญญาเฉลียวฉลาด และมีความสามารถด้าน กฎหมายเป็นพิเศษ ได้ช่วยกรมการเมืองชำระถ้อยความของราษฎรทางภาคเหนืออยู่เนืองๆ เนื่องจากได้ทำ ความดีมีความชอบต่อแผ่นดิน จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าเมืองตากในเวลาต่อมา




      ในปีพุทธศักราช 2308 - 2309 พระยาตากได้นำไพร่พลลงมาสมทบเพื่อป้องกันกรุงศรีอยุธยาระหว่าง ที่พม่าล้อมกรุงอยู่ ได้ทำการต่อสู้จนเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นแม่ทัพที่เข้มแข็งมากที่สุดคนหนึ่ง และได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ในวันที่ 4 มกราคม พุทธศักราช 2310 (ก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยา ให้แก่พม่าประมาณ3 เดือน) พระยาตากได้รวบรวมกำลังตีฝ่าวงล้อม ของพม่าไปตั้งมั่น เพื่อที่จะกลับ มากู้เอกราชต่อไป
หลังจากครองราชย์ได้ประมาณ 15 ปี ได้มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นเหตุให้รัชสมัยของพระองค์ต้อง สิ้นสุดลง สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325 ขณะที่มีพระชนมายุได้ 48 ปี ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่ง ราชวงศ์จักรี และได้ทรงย้ายราชธานีมาฝั่งกรุงเทพมหานคร

      เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อแผ่นดินไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะได้ ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี (ซึ่งตรงกับวันที่ทรงปราบ ดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์) เป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรียังมีมติให้ถวาย พระราชสมัญญานามว่า"สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"

สมเด็จพระสุริโยทัย

           สมเด็จพระสุริโยทัย ทรงเป็นวีรสตรีของไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ได้เสด็จติดตามพระราชสวามีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยา โดยแต่งกายปลอมแปลงพระองค์เป็นชายออกรบกับพม่า ตามพงศาวดารได้กล่าวว่า พระเจ้าแปรซึ่งครองเมืองแปรของพม่า ได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาร่วมกับพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงออกมารับศึกด้วยพระองค์เอง และขณะชนช้างกับพระเจ้าแปรนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเกิดเพลี่ยงพล้ำเสียทีแก่พระเจ้าแปร สมเด็จพระสุริโยทัยทอดพระเนตรเห็น จึงทรงไสช้างเข้าไปขวางและทรงช่วยเหลือพระราชสวามีไว้ได้ แต่พระองค์เองต้องสิ้นพระชนม์ในสนามรบ
          ครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิสามารถนำพระศพสมเด็จพระสุริโยทัยกลับเข้ามาในพระนครศรีอยุธยาได้ และเมื่อกองทัพพม่าถอยกลับไปแล้ว ก็ได้โปรดให้พระราชทานเพลิงพระศพที่ในสวนหลวงซึ่งคงเป็นที่โปรดเสด็จประพาสของพระองค์ หลังจากนั้นได้โปรดให้สร้างวัดขึ้นที่นั่น ชื่อวัดสวนหลวงสบสวรรค์ คุณหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ซึ่งเคยเป็นภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและเคยรับราชการใกล้ชิดสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เคยเล่าให้ฟังว่า เจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งเป็นเจดีย์ไม้สิบสอง คือย่อมุมเป็น ๓ มุม แต่ละทิศที่เราเห็นอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบันนี้ ความจริงแล้วไม่ใช่เจดีย์องค์เดิมที่บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระสุริโยทัย กล่าวคือเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าแล้ว





          วัดสวนหลวงสบสวรรค์กลายเป็นวัดร้าง ต่อมาในระยะหลังได้กลายมาเป็นค่ายทหาร เจดีย์หลายองค์ที่มีอยู่เป็นอุปสรรคต่อการซ้อมยิงปืนของทหาร ทางทหารจึงได้แจ้งไปยังกรุงเทพฯ เพื่อขออนุญาตรื้อเจดีย์ทิ้งเสีย ทางกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็อนุญาตให้รื้อได้แต่ขอให้คงพระเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระสุริโยทัยไว้ ทหารจึงได้จัดการรื้อเจดีย์องค์อื่นออกหมด เหลือไว้แต่พระเจดีย์องค์ใหญ่ที่สุด คือพระเจดีย์ไม้สิบสองที่เราเห็นในปัจจุบัน